จัดสร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 พรรษา แบ่งเป็น 5 ส่วน
ส่วนที่ 1 ทรงเป็นร่มเกล้าของชาวไทย
กล่าวถึงพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ ของพระองค์ท่าน
ส่วนที่ 2 ทรงค้นคว้าวิจัยเพื่อทวยราษฏร์
เป็นข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาวิจัยต่างๆ ได้แก่ โครงการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนา 6 ศูนย์ 4 ภูมิภาค เรื่องราวประกอบหุ่นจำลองโครงการหลวงสวนจำลองบรรยากาศสภาพภูเขาสูง พื้นที่ปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ สภาพบ้านเรือนและความเป็นอยู่ของชาวเขา ส่วนโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นเรื่องราวการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยทางการเกษตรให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ส่วนที่ 3 ทรงเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น
ทุกสิ่งประดิษฐ์ล้วนสร้างคุณประโยชน์อันมหาศาลต่อประเทศ อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนาซึ่งมีขนาดย่อส่วน และขนาดย่อถอดส่วนประกอบได้ อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทานขนาดเท่าของจริงตลอดจนพระราชดำรัสเกี่ยวกับการกีฬา เช่น เรือใบฝีพระหัตถ์ ซึ่งเป็นกีฬาที่ทรงโปรด ทั้งนี้ยังทรงออกแบบและสร้างเรือใบซุปเปอร์มดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากภาพพระบรมฉายาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงประดิษฐ์เรือใบมด นอกจากนี้ในนิทรรศการยังได้จำลองเรือใบมีขนาดเท่าของจริง พร้อมข้อมูลจากสื่อโทรทัศน์เพื่อให้ผู้เข้าได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
ส่วนที่ 4 ทรงพระปรีชาญาณด้านการพัฒนาดินและน้ำ
พระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมสภาพของหน้าดิน แสดงสัญลักษณ์ความลาดชันของภูมิประเทศโดยจำลองต้นหญ้าแฝกที่มีรากยาวประมาณ3 เมตร และโครงการอื่นๆ ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และดิน ได้แก่ โครงการแก้มลิง โครงการฝนหลวง ซึ่งทรงเห็นความแห้งแล้งของแผ่นดินอันเนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำและฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงทรงมีพระราชปรารภกับองคมนตรีสมัยนั้นถึงวิธีการทำฝนหลวง ความว่า “น่าจะมีลู่ทางที่จะหาเทคนิคหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ด้านการแปรสภาพอากาศมาช่วยให้เกิดการก่อและรวมตัวของก้อนเมฆให้เกิดฝนได้” สระเก็บน้ำพระรามเก้า นอกจากใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรในฤดูแล้งแล้ว ยังสามารถกักเก็บน้ำเหนือที่ไหลมาในฤดูฝนเป็น “แก้มลิงด้านทิศเหนือ” เพื่อบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครและยังใช้เป็นสถานที่ผักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนทั่วไปด้วย
ส่วนที่ 5 ทรงล้ำเลิศแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
หลักแนวเศรษฐกิจพอเพียง “การผสมผสาน” ให้ได้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้